logo-heading

ฟุตบอล “เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ 2018” ปิดฉากด้วยความสำเร็ขของทีม “ดาวทอง” เวียดนาม ที่คว้าแชมป์ไปครองเป็นสมัยที่ 2 หลังเข้าชิงชนะเลิศ 3 ครั้งในทุกๆรอบ 10 ปี

นักเตะสกุล “เหงียน” ชิงครั้งแรกเมื่อปี 1998 ที่ตัวเองเป็น “เจ้าภาพ” แต่ดันแพ้ สิงคโปร์ ได้แค่รองแชมป์ เวียดนาม ประสบความสำเร็จซิวแชมป์ครั้งแรกในปี 2008 หลังบุกมาชนะ ไทย แล้วกลับไปได้ประตูตีเสมอช่วงท้ายเกมที่ฮานอย เปิดประวัติศาสตร์แชมป์สมัยแรก หลังจากนั้นพวกเขาต้องรอถึง 10 ปีกว่าจะได้เข้าชิงชนะเลิศอีกครั้งในปี 2018 ก่อนจะยึดแชมป์สมัยที่ 2 ด้วยการชนะ มาเลเชีย เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่แปลกที่แฟนบอลเรือนแสนจะออกมาฉลองกันเต็มถนนในกรุงฮานอยและโฮจิมินต์ รวมถึงเมืองต่างๆ เพราะนี่คือแชมป์ที่ชาว “เวียด” รอคอยมานานกว่า 10 ปี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เสียงเฮที่เวียดนาม ดังถึงเมืองไทย ความสำเร็จของ เวียดนาม กระทบชิ่งถึงวงการฟุตบอลไทยแบบเต็มๆ ทั้ง 2 ชาติถูกงัดผลงานออกมาเปรียบเทียบกัน และแน่นอนว่าชั่วโมงนี้ “ช้างศึก” เป็นรอง !!! ถ้าดูผลงานปี 2018 ต้องยอมรับว่า “ดาวทอง” ดีกว่าจริง ทั้งรองแชมป์ “ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย” ต่อด้วยอันดับ 4 “กีฬาเอเชี่ยนเกมส์” และแชมป์อาเซียน “ซูซูกิคัพ” ขณะที่ “อันดับโลก” ของ “ฟีฟ่า” ก็เป็นเวียดนามที่ยึดเบอร์ 1 อาเซียน นี่คือ “ปีทอง” ของฟุตบอลเวียดนามอย่างแท้จริง แต่ที่บางคนบอกว่า เวียดนาม ก้าวทัน ไทย แล้ว หรือบางคนถึงขั้นบอกว่า “แซงไปแล้ว” ดูจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน นี่อาจจะเป็นแค่ “ปีที่แย่” ของทีมชาติไทยเท่านั้น เสียงเฮที่เวียดนาม...ดังถึงเมืองไทย !!! ต้องดูที่ผลงานทีมชาติ “ชุดใหญ่” ที่น่าจะวัดมาตรฐานได้ดีที่สุด เอาแค่สถิติ “ซูซูกิคัพ” แล้วกัน ไทย แชมป์ 5 สมัยมากกว่าทุกชาติ ขณะที่ เวียดนาม เพิ่งได้แชมป์สมัย 2 แค่ไล่ทันยังถือว่าไม่ทันเลยแล้วจะมาแซงได้อย่างไร ต้องให้ได้แชมป์อีก 3 สมัยหรือรอลุ้นอีก 6 ปีนู้นละถึงขยับมาเท่ากัน ดังนั้นที่บอกว่า เวียดนาม มาทันหรือแซงไปแล้วจึงไม่น่าจะใช่เรื่องที่ถูกต้อง ความล้มเหลวใน “ซูซูกิคัพ” ของ ไทย ยังเป็นแค่การสะดุดหกล้ม   ฟุตบอลไทยใช่ว่าไม่เคยหัวทิ่ม ที่ผ่านมามีทั้งช่วงที่นำห่างตอนที่ได้แชมป์ซีเกมส์ 8 สมัยติด อันดับ 4 เอเชี่ยนเกมส์ 2 สมัยซ้อน เข้ารอบคัดเลือก รอบสุดท้าย ฟุตบอลโลก มาแล้ว แต่วันดีคืนดีเราก็ยังมีที่ตกรอบแรกซีเกมส์ 2 สมัยติด รวมถึงที่ตกรอบแรก 2 สมัยและไม่ได้แชมป์ “อาเซียนคัพ” (ไทเกอร์คัพ, ซูซูกิคัพ) ยาวนานถึง 10 ปี วงล้อฟุตบอลไทยมักเป็นเช่นนี้เสมอ คือสปีดหนีไม่สุด เดี๋ยวหยุด เดี๋ยวสะดุด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่ว่า “เราจะลุกขึ้นมาแล้วก้าวหนีต่อไปได้อย่างไรมากกว่า” นาทีนี้ชาติอื่นอาจจะยังไล่ไม่ทัน แต่ต่อไปถือว่าอันตรายหากเรายังสะดุดล้มอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะ เวียดนาม ที่เพิ่งได้แชมป์ “ซูซูกิคัพ” นี่ละจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ทิศทางลูกหนัง เวียดนาม มีโอกาสสูงที่จะเหมือน ไทย ที่เคยทำไว้เมื่อปี 2014 คือผ่าตัดเน้นดาวรุ่งเลือดใหม่แล้วประสบความสำเร็จซิวแชมป์แล้วต่อยอดไปอีกมากมาย เสียงเฮที่เวียดนาม...ดังถึงเมืองไทย !!! นอกจากการมาของ ปาร์ค ฮัง ชอ กุนซือชาวเกาหลีใต้ที่ดูจะเป็นปัจจัยสำคัญแล้ว ผู้เล่น “ดาวทอง” ชุดแชมป์อาเซียนปีล่าสุดถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะอายุเฉลี่ยแค่ 23.69 ปี นักเตะชุดนี้อายุระหว่าง 19-33 ปีมีผู้เล่นจากสโมสร “ฮานอย” (ที่จะเจอกับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ใน “เอซีแอล 2019” รอบคัดเลือก) เป็นแกนหลักที่ทำผลงานได้ดีถึง 7 คน ส่วนผู้เล่นดาวรุ่งจาก “ฮอง อันห์ ยาลาย” ที่เป็นผลผลิตของอคาเดมี “ฮอง อันห์ ยาลาย เจเอ็มจี” มี 4 ราย ในทีมชุดนี้ ว่ากันว่า “เจเอ็มจี” ที่ “บอสดึ๊ก” ด่วน เหงียน ดึ๊ก มหาเศรษฐีประธานสโมสรฮอง อันห์ ยาลาย ทุ่มเงินมหาศาลลงทุนทำมาหลายปีกำลังออกดอกออกผลผลิตนักเตะชั้นดีให้ เวียดนาม เสียงเฮที่เวียดนาม...ดังถึงเมืองไทย !!! 1 ในนั้นคือ เหงียน คอง เฟือง ที่แฟนบอลไทยได้ยินชื่อเสียงเป็นอย่างดี นี่คือนักเตะที่ถูก “เจเอ็มจี” สร้างตั้งแต่เด็กๆด้วยหลักสูตรเริ่มต้น “เท้าเปล่า” เหมือนที่เคยมาเปิดสอนที่เมืองไทย สมัยนักเตะไทยนำโดย “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ไปเล่นให้ ฮอง อันห์ ยาลาย เมื่อหลายปีก่อน เหงียน คอง เฟือง ยังตัวกระเปี้ยกอยู่เลย แต่วันนี้โตมาจนเป็นสตาร์ดังแล้ว ไม่ต้องลุ้นว่า เหงียน คอง เฟือง จะมาเล่น “ไทยลีก” เพราะเท่าที่ได้ข้อมูลจากคนใกล้ตัว “บอสดึ๊ก” มา แว่วๆ 2 ล้านเหรียญ” (60 ล้านบาท) ยังไม่รู้จะยอมปล่อยหรือเปล่า ที่สำคัญ “บอสดึ๊ก” อยากให้ไปเล่นในลีกที่มาตรฐานสูงกว่าไทยอย่าง “เจลีก” ด้วย ส่วนนักเตะเวียดนามรายอื่นๆเพื่อนๆสื่อเวียดนามบอกยังไม่มีข้อมูลเลยว่าใครจะมาเล่นไทยลีก ถึงตรงนี้มาสะดุดนึกถึง “โควตาอาเซียน” ในไทยลีกที่กำลังจะเปิดเสรีในฤดูกาลใหม่ ไม่รู้ว่าแนวทางนี้จะถูกต้องตามเป้าหมายหรือเปล่า เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ตอนนี้เกรงว่านอกจากจะไม่ได้สิทธิประโยชน์เพิ่มจากลิขสิทธิ์ต่างๆ ยังอาจเป็นการพัฒนานักเตะให้เพื่อนบ้านมากกว่าคนท้องถิ่นด้วยซ้ำ ฟุตบอลมีแพ้ชนะกันได้ แต่ถ้าทีมชาติไทยพลาดเป้าหลายๆทีคงไม่ดี แนวทางบางอย่างเพื่อการพัฒนาควรมุ่งเน้นที่นักเตะไทยโดยตรง ไม่งั้นอาจจะได้ยินเสียงเฮจากเพื่อนบ้านที่สะเทือนมาถึงบ้านตัวเองบ่อยๆ...แล้วมันจะอยู่กันไม่ได้นะครับท่านๆทั้งหลาย !!!  

“บับเบิ้ล”

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของ ขอบสนาม
logoline